การจัดการเรียนการสอน

การจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
                การจัดประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์เด็กปฐมวัยให้ได้ผลดีนั้น ควรวางเป้าหมายของการเรียนคณิตศาสตร์ให้ชัดเจน และเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางในการจัดประสบการณ์ให้ตรงกับสิ่งที่ครูกำหนดไว้ให้เกิดขึ้นกับตัวเด็ก ซึ่งมีนักการศึกษาได้เสนอเป้าหมายในการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในระดับปฐมวัยไว้ดังนี้
                Wortham (1994 : 187) กล่าวถึง เป้าหมายของโปรแกรมคณิตศาสตร์ในระดับปฐมวัย ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายใหญ่ด้านสังคมและการใช้ชีวิตเมื่อเติบใหญ่ในศตวรรษหน้าสรุปได้ดังนี้
                                1. การแก้ปัญหา
2. การสื่อสารความคิดทางคณิตศาสตร์
3. การใช้เหตุผลเชิงคณิตศาสตร์
4. การประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ในสถานการณ์ประจำวัน
5. การเตรียมความพร้อมในการให้เหตุผลของผลลัพธ์
นิตยา ประพฤติกิจ (2551 : 28 - 29) กล่าวไว้ สรุปได้ว่าการให้เด็กได้รับประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์จะช่วยให้เด็กได้รู้จักการใช้เหตุผล เพิ่มพูนคำศัพท์ที่ควรรู้จักและควรเข้าใจสามารถเชื่อมโยงไปสู่การเข้าใจเรื่องอื่นๆ ด้วยตนเองได้ดั้งนั้นเป้าหมายของการสอนคณิตศาสตร์สำหรับเด็กวัยอนุบาลจึงควรมีดังนี้
                                1. เพื่อพัฒนาความคิดรวบยอดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ เช่น การบวกหรือการเพิ่ม การลดหรือการลบ
                                2. เพื่อให้เด็กรู้จักและใช้กระบวนการในการหาคำตอบ เช่น เมื่อเด็กบอกว่ากิ่งหนักกว่าดาวแต่บอลบอกว่าดาวหนักกว่ากิ่งเพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง จะต้องมีการชั่งน้ำหนักและบันทึกน้ำหนัก
                                3. เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ เช่น รู้จัก เข้าใจคำศัพท์และสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ขั้นต้น
                                4. เพื่อให้เด็กฝึกฝนทักษะคณิตศาสตร์พื้นฐาน เช่น การนับ การวัด การจับคู่ การจัดประเภท การเปรียบเทียบ การจัดลำดับ
                                5. เพื่อส่งเสริมให้เด็กค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง
                จากที่กล่าวมาข้างต้น สรุปได้ว่าการเรียนรู้ทางด้านคณิตศาสตร์สามารถกระทำและส่งเสริมได้ตั้งแต่เด็กในระดับปฐมวัย ซึ่งมีกระบวนการและขั้นตอนเฉพาะในการจัดประสบการณ์และกิจกรรมทางคณิตศาสตร์ที่เหมาะสม ด้วยเหตุที่เด็กปฐมวัยมีธรรมชาติและลักษณะพัฒนาการที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะ ดังนั้นการจัดประสบการณ์และกิจกรรมทางด้านคณิตศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย จึงต้องมีกระบวนการและขั้นตอนที่ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยมากที่สุด
                คณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยไม่ได้เริ่มในวันแรกของการเข้าโรงเรียนพัฒนาการของความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์เกี่ยวกับ ตัวเลข รูปทรง และแบบรูป เริ่มตั้งแต่ที่เด็กมีประสบการณ์อยู่ในช่วงทารก การเล่นกับของเล่น การพุดคุย การร้องเพลง การค้นคว้าสิ่งต่างๆรอบตัวเด็กจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้เด็กรู้จักโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ควรจัดให้เด็กมีประสบการณ์การค้นคว้าอย่างไม่เป็นทางการด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย เพราะเป็นการวางรากฐานทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย (Hendrick. 1991 อ้างใน นภเนตร ธรรมบวร. 2544 : 71)
                มีนักการศึกษาจำนวนมากได้มุ่งเน้นความสำคัญของการสื่อสารในการเรียนคณิตศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เด็กเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น โดยครูควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีการตรวจสอบและสื่อสารในสิ่งที่เรียนในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่น การอภิปราย พูดคุยในกลุ่ม การเขียนบันทึกและวาดภาพเป็นต้นนักการศึกษาได้เสนอแนวทางการจัดประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์หลายแนวทาง ซึ่งสรุปได้ดังนี้
                สภาครูคณิตศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้ให้แนวทางสำหรับการจัดประสบการณ์คณิตศาสตร์สำหรับเด็กอนุบาล (Clements and Sarama. 2000 : 115 - 116) ดังนี้
                                1. ครูต้องตระหนักว่าการสอนคณิตศาสตร์อย่างไร ให้มีความสัมพันธ์กับหัวเรื่องและควรเป็นการสอนที่บูรณาการเนื้อหาคณิตศาสตร์กับเนื้อหาวิชาอื่น
2. ไม่ควรจัดประสบการณ์โดยให้เด็กนั่งเป็นกลุ่มๆ จากบทเรียน แต่ควรจัดกิจกรรมที่หลากหลาย น่าตื่นเต้น ท้าทายความสามารถ ซึ่งเด็กจะเกิดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเหล่านั้น
3. เด็กอนุบาลควรได้รับการประกันในเรื่องการจัดประสบการณ์การคิดทางคณิตศาสตร์
4. เด็กอนุบาลควรได้รับประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์อย่างไม่เป็นทางการ ครูควรจัดประสบการณ์ผ่านกิจกรรมที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเด็ก มีความน่าสนใจและเกิดจากการใช้คำถามของครู
5. ครูควรมีความเพียรพยายามที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กสังเกตพฤติกรรมโดยละเอียดและนำสิ่งเหล่านี้มาแปลความหมาย นำไปสู่การเตรียมการสอนเพื่อสัมพันธ์กับหลักสูตร
6. การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนครูจะต้องจัดเนื้อหาคณิตศาสตร์อย่างมีความหมายรวมทั้งจัดสิ่งแวดล้อมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ครูควรสังเกตการทำกิจกรรมของเด็กและเข้าพูดคุยหรือแนะนำเด็ก เมื่อพบว่าเด็กมีปัญหาหรือไม่แน่ใจโดยการใช้คำถามเพื่อการสืบค้นหาคำตอบซึ่งจะทำให้เด็กอนุบาลมีพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ และมีความรู้ความเข้าใจคณิตศาสตร์อย่างชัดเจน
                Beaver (1995 : 112) ได้กล่าวถึงแนวการจัดประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย สรุปได้ดังนี้
                                1. บูรณาการคณิตศาสตร์กับวิชาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษา สังคม ฯลฯ ในเนื้อหาในหน่วยการเรียน ซึ่งเห็นว่าในแต่ละหน่วยการเรียนจะมีความคิดรวบยอดเกี่ยวกับหน่วยนั้นๆ ผสมผสานกับความคิดรวบยอดของคณิตศาสตร์ในช่วงนี้จะมีการทำกิจกรรมเป็นรายบุคคล กลุ่มย่อยหรือทั้งห้องจากนั้นก็จะมีการจัดกิจกรรมในรูปของศูนย์การเรียนต่างๆ เช่นศูนย์คณิตศาสตร์ศูนย์ภาษาฯลฯ โดยเฉพาะศูนย์คณิตศาสตร์ควรจัดให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่หลากหลายและสัมพันธ์กับความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ที่กำหนดขึ้น
2. การสอนคณิตศาสตร์ให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันมีการจัดกระทำและเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือ
3. ยึดเด็กเป็นศูนย์กลางและมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นจริง เด็กเรียนรู้ผ่านการทดลองการค้นพบและการแก้ปัญหาอย่างมีความหมาย